ข่าวทั่วไปความเชื่อ

ควรมีไว้ทุกบ้าน ! “ว่านงาช้าง” บำรุงโลหิต รักษาริดสีดวง รักษาฝ้า บำรุงผิว ช่วยให้ทำมาค้าขายร่ำรวย

 

เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยเห็นเจ้าต้นไม้รูปร่างแปลก ๆ อย่างในภาพนี้มาบ้างแล้ว รูปร่างหน้าตาของมัน คล้าย ๆ กับฝักมะรุม หรืองาช้างที่มีสีเขียว มันจึงได้ชื่อว่า “ว่านงาช้าง” ซึ่งจัดเป็นว่านมหานิยม ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับต้น และดอก ทั้งในกระถางตั้งหน้าบ้าน หน้าร้านค้า รวมถึงแปลงจัดสวน เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล และช่วยให้ทำมาค้าขายร่ำรวย ทั้งนี้ ด้วยลักษณะเด่นทีมีใบหรือลำต้นเทียมตั้งตรง ปลายลำแหลมทำให้มีรูปร่างคล้ายงาช้าง จึงทำให้เป็นที่มาของชื่อที่เรียกกันว่า ว่านงาช้าง

ลำต้น

ลำต้นว่านงาช้างมีลำต้นแท้อยู่ใต้ดิน เป็นเหง้าที่แตกแยกออกเป็นแง่ง คล้ายเหง้าข่า แต่เปลือกหุ้มด้านนอกจะมีสีส้ม เนื้อหัวด้านในมีสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

ใบ

ใบว่านงาช้าง โดยทั่วไปเข้าใจว่าเป็นว่านไม่มีใบ แต่ในทางวิชาการแล้ว ลำต้นเทียมที่เป็นลำทรงกลมสีเขียวก็คือใบนั่นเอง ใบหรือลำต้นเทียมเหนือดินจะแทงออกจากตาของหัวหรือเหง้าที่อยู่ใต้ดิน ลำต้นเทียมมีลักษณะเป็นทรงกลม สีเขียวทั้งใบหรือมีสีเขียวที่ประคาดเป็นลายขาวเขียว ลำใบตั้งตรง ไม่แตกแขนง สูงประมาณ 40-60 ซม. โคนใบใหญ่ ปลายใบแหลม มีร่องลึกเป็นพูตามแนวยาวจากโคนถึงส่วนปลาย โดยลำต้นเทียมนี้จะมีอายุนานหลายปี

ดอก

ดอกว่านงาช้างจะแทงออกจากเหง้า มีลักษณะออกเป็นช่อที่ประกอบด้วยดอกสีขาวเป็นชั้นๆตามความสูงของช่อดอก ดอกส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ลักษณะเด่นของว่านหางช้างอีกอย่างคือ หอมได้ทนนาน ดอกก็อยู่ทนนาน จึงเหมาะที่จะปลูกบริเวณบ้าน

ผล

ผลว่านงาช้างจะติดผลน้อย ถึงแม้จะมีดอกจำนวนมาก ผลมีลักษณะกลม ขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-1 ซม. ผลมีส้ม เมื่อสุกจัดจะมีสีแดง

ประโยชน์ว่านงาช้าง

1. เนื่องจากลำต้นเทียมหรือใบมีลักษณะโดดเด่นต่างกับพืชอื่น รวมถึงดอกที่ออกเป็นช่อสวยงาม จึงนิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั้งปลูกในกระถาง และปลูกในแปลงจัดสวน ทั้งนี้ อาจปลูกประดับแบบลำต้นตั้งตรงตามธรรมชาติ หรือ ดัดบิดเป็นเกลียวพันหลายต้นเข้าด้วยกัน

2. ปลูกเป็นไม้มงคล ด้วยเชื่อว่าเป็นว่านที่ช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลแก่คนในครอบครัว ช่วยให้ผู้คนเข้าร้านมากขึ้น ทำให้ทำมาค้าขายร่ำรวย

สรรพคุณทางยา

เหง้าหรือหัว และใบหรือลำต้นเทียมนำมาต้มน้ำดื่ม มีรสขมเล็กน้อย

– เป็นยาบำรุงโลหิต

– ใช้ขับพยาธิ

– รักษาโรคริดสีดวง

– ช่วยการอยู่ไฟของสตรีหลังคลอด ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวเร็ว

– ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ

ใบหรือลำต้นเทียมนำมาตำใช้ทาภายนอก

– ใช้ทาหน้ารักษาสิว

– ใช้ทาหน้าลดรอยเหี่ยวย่น ช่วยให้หน้าเต่งตึง

– ใช้ทารักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ช่วยให้แผลแห้ง และหายเร็ว

– ใช้ทารักษาอาการผดผื่นตามผิวหนัง

สูตรวิธีการใช้ตามภูมิปัญญา

– บำรุงโลหิตได้ดี โดยเอาใบว่านงาช้างเขียวประมาณ 1 กำมือ ดองกับเหล้าขาวหรือเหล้าโรง 1 ขวด ดองไว้ประมาณ 1 เดือน แล้วเอามาดื่มเพียงครั้งละค่อนถ้วยตะไล เวลาเย็นวันละ 1 ครั้ง หรือจะดื่มเช้าและเย็นก็ได้ ก่อนอาหาร หากว่าไม่ชอบดื่มเป็นเหล้า ให้เอามาต้มเป็นยาต้มก็ได้ ให้ดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็นวันละ 2 เวลา ครั้งละ 1 ถ้วยตะไล จะทำให้มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง

– รักษาอาการใบหน้าเป็นฝ้าหน้าตกกระ โดยเอาใบของว่านงาช้างมาล้างให้สะอาด แล้วเอามาตัดเป็นท่อนสั้นๆ โขลกหรือทุบให้แตกออกมากๆ เอาไปต้มกับน้ำสะอาด เอาน้ำยาที่ได้มาดื่มครั้งละ 1 ถ้วยตะไล เช้าเย็นอย่างละครั้ง

– ใช้ขับโลหิตเสีย โลหิตเป็นพิษหลังคลอด โดยให้เอาใบของว่านงาช้างเขียวมาล้างให้สะอาด ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ โขลกให้ละเอียดเสียก่อน เอามาต้มสัก 1 กำมือ ใส่น้ำพอท่วมขึ้นมาพอสมควร ต้มไปสัก 15 นาที ยกเอาลงมาให้เย็นลงตามปกติ พออุ่นๆก็รินเอาดื่มครั้งละ 1 ถ้วยตะไล เช้าและเย็น ก่อนอาหาร ทุกวัน

– แก้ริดสีดวงทวาร และเป็นยาถ่ายพยาธิ โดยใช้รากสด 5-10 กรัม นำมาล้างให้สะอาดโขลกให้ละเอียดอาจจะผสมเหล้าโรงเล็กน้อยก็ได้ คั้นเอาแต่น้ำจิบ

– แก้อาการปวดในหู เอามาเผา แล้วคั้นเอาน้ำออกมา เอาไปหยอดรูหู แก้อาการปวดในหู หูอักเสบ เจ็บปวด หูน้ำหนวกก็ใช้ได้

– รักษารากผม น้ำคั้นจากว่านมาชโลมเส้นผม รักษารากผมให้สมบูรณ์แข็งแรง เส้นผมดกดำเป็นเงางาม ไม่ร่วงหล่น

การปลูกว่านงาช้าง

ว่านงาช้างมักไม่ติดผล ถึงแม้จะมีดอกมาก็ตาม ดังนั้น ตามธรรมชาติของว่านงาช้างจึงขยายพันธุ์ด้วยการแตกเหง้าใหม่เป็นหลัก ดังนั้น การปลูกว่านงาช้างจะใช้วิธีแยกเหง้าปลูกเป็นหลัก ด้วยการขุดแยกเหง้าอ่อนออกมาแยกปลูกเป็นต้นใหม่

การปลูกในกระถางนั้น จำเป็นต้องใช้วัสดุปลูกที่ผสมระหว่างดินกับวัสดุอินทรีย์ อาทิ ปุ๋ยคอก แกลบดำ อัตราส่วนผสมประมาณ 1:3-5 เพื่อให้มีอินทรียวัตถุมาก เพราะว่านงาช้างเป็นพืชที่เติบโตได้ดี มีลำต้นสวยงามหากดินมีความร่วนซุย และดินมีอินทรียวัตถุสูง รวมถึงดินมีความชื้นตลอดเวลา

ส่วนการปลูกในแปลง สามารถปลูกลงในแปลงได้เลยหรือให้คลุกผสมดินกับปุ๋ยคอกเสียก่อน แต่หลังการปลูกควรใส่ปุ๋ยคอกคลุมหน้าดินอย่างสม่ำเสมอ.

ข้อควรทราบ

ว่านงาช้างมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ

ว่านงาช้างเขียว (หอกสุรกาฬ) คือ ชนิดใบสีเขียวล้วนตลอดใบ และมีร่องตามแนวความยาวใบ

ว่านงาช้างลาย (หอกสุรโกฬ) คือ ชนิดใบสีเขียวและมีลายสีเขียวอมดำเป็นปล้อง ๆ ตลอดความยาวใบ

ใส่ความเห็น