รู้ยัง 14 โรคที่ประกันสังคมไม่คุ้มครอง ต้องจ่ายเอง
ประกันสังคม เป็นโครงการที่รัฐบาลจัดทำขึ้น เพื่อช่วยเหลือและลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน โดยผู้ที่ทำประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ได้รับสิทธิการคุ้มครองต่างๆจากประกันสังคมอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ชราภาพ เสียชีวิต ทุพพลภาพ เงินสงเคราะห์บุตรหรือการว่างงาน แต่อย่างไรก็ตามประกันสังคมก็ไม่ได้ให้การรักษาที่ครอบคลุมไปทั้งหมด ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของโรค วงเงินและสถานพยาบาลที่รับการรักษาอยู่บ้าง โดยมีการจำกัดความคุ้มครองในเรื่องโรคและการเจ็บป่วยดังนี้
โรคและบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคมได้ คือ
1. โรคหรือการประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
2. โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทคนไข้ใน 180 วัน ในหนึ่งปี ยกเว้น กรณีที่มีความจำเป็นตามดุลยพินิจของคณะกรรมการการแพทย์
3. การบำบัดทดแทนไตกรณีไตวายเรื้อรัง ยกเว้น
-กรณีไตวายเฉียบพลันที่มีระยะเวลารักษาไม่เกิน 60 วัน ให้มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์
-กรณีเจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้สิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ โดยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ด้วยวิธีล้างช่องท้องด้วย น้ำยาอย่างถาวร และด้วยวิธีปลูกถ่ายไต ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการปลูกถ่ายไต ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดในประกาศสำนักงานประกันสังคม
4. การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
5. การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง
6. การรักษาภาวะมีบุตรยาก
7. การตรวจเนื้อเยื้อเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ยกเว้น การแปลูกถ่ายไขกระดูก
8. การตรวจใดๆ ที่เกินความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น
9. การผ่าตัดอวัยวะ ยกเว้น การปลูกถ่ายไขกระดูก ปลูกถ่ายไตการเปลี่ยนอวัยวะกระจกตาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
10. การเปลี่ยนเพศ
11. การผสมเทียม
12. การบริการระหว่างรักษาตัวแบบพักฟื้น
13. ทันตกรรม ยกเว้น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด และการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ บางส่วน หรือทั้งปาก
14. แว่นตา