ชาวเน็ตวิจารณ์ยับ หลัง “คุณครู” รวมตัวกันทำปฏิญญา คว่ำบาตร ไม่จ่ายหนี้ ช.พ.ค.
ชาวเน็ตวิจารณ์ยับ หลัง “คุณครู” รวมตัวกันทำปฏิญญามหาสารคาม ลั่นจะคว่ำบาตร ไม่จ่ายหนี้ ช.พ.ค. ให้ธนาคารออมสิน!? (คลิป)
16 ก.ค. 61 ในโลกออนไลน์มีการแชร์คลิปวิดีโอปฏิญญามหาสารคาม ซึ่งเนื้อหาภายในคลิป มีบุคคลยืนอยู่บนเวทีไม่ต่ำกว่า 50 คน โดยทั้งหมดคาดว่าน่าจะเป็นคุณครู
“วันที่ 14 ก.ค. 61 ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาล และธนาคารออมสิน พักหนี้โครงการ ช.พ.ค.ทุกโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 61 เป็นต้นไป ลูกหนี้ ช.พ.ค จำนวน 450,000 แสนคน จะดำเนินการยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 61 เป็นต้นไป”
อย่างไรก็ตาม หลังจากคลิปนี้มีการเผยแพร่ไป มีชาวโซเชียลเข้ามาดูแล้วกว่า 2 แสนครั้ง โดยส่วนใหญ่มองว่า ทำไมเป็นหนี้แล้วไม่จ่าย แบบนี้ก็มีด้วย เป็นหนี้ไม่ยอมใช้หนี้ น่าอาย หรือ บุคลากรทางการศึกษาที่เรียกว่าแม่พิมพ์ของชาติขาดวินัย อนาคตเด็กไทยน่าเวทนา รวมไปถึง “เสียใจที่คนกลุ่มนี้ ทำให้ภาพพจน์ครู อาชีพที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่พิมพ์ของชาติเสื่อมเสีย มัวหมอง เหตุเกิดจากการกระทำของตัวเองแท้ๆ แล้วก็มาโทษนั่นโทษนี่ ทำไมพวกคุณถึงเป็นครูได้ …ไม่เข้าใจ”
โดย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารออมสิน และ สกสค. แก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงโครงการสวัสดิการ เงินกู้ ช.พ.ค.–ช.พ.ส. เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สิน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามนโยบายรัฐบาล โดยหากใครมีปัญหาขอให้มาเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ รวมไปถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อช่วยเหลือคุณครู…
อย่างไรก็ตาม คลิปต้นทางได้ถูกลบไปแล้ว
(ชมคลิป คลิกที่นี่)
ข้อมูลเพิ่มเติม…
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในปี 2542 ธนาคารออมสินและกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการรวมหนี้สินจากหลายแหล่งมาไว้ที่ธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียว โดยการกู้เงินจากโครงการนี้ไปปิด และคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ต่อมาในปี 2546 กระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และได้ทำเอ็มโอยูร่วมกับธนาคารออมสิน จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. – ช.พ.ส. ไม่น้อยกว่า 7 โครงการ ซึ่งใช้เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) มาค้ำประกัน และธนาคารออมสินจะจัดสรรเงินสนับสนุนให้ สกสค. ในอัตรา 0.5-1% แยกตามแต่ละโครงการ
สำหรับหนี้โครงการ ช.พ.ค. ที่ในคลิปกล่าวถึง เป็นโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ซึ่งก่อนหน้านี้ ธนาคารออมสิน เปิดโอกาสให้ข้าราชการครูกู้เงินโดยมีบุคคลค้ำประกัน และเงินฌาปณกิจสงเคราะห์ ช.พ.ค. ซึ่งเป็นเงินบำเหน็จตกทอด ที่ทายาทจะได้รับเมื่อบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิต เป็นหลักประกัน คิดดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อสวัสดิการอื่นๆ กำหนดระยะเวลากู้เงินได้สูงสุด 30 ปี รวมทั้งยังมีสำนักงาน สกสค.ดูแลชำระหนี้แทนกรณีผู้กู้ไม่ชำระหนี้ โดยมีลูกหนี้เป็นข้าราชการครูกว่า 4 แสนราย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา ลูกหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ธนาคารออมสินปล่อยกู้ กลายเป็นหนี้ด้อยคุณภาพจำนวนหนึ่ง รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยคณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยปล่อยสินเชื่อเพื่อนำมาใช้หนี้เก่า เอารายได้อนาคตมาใช้หนี้ตัวเอง โดยยอมให้หักเงิน ช.พ.ค. ที่จะได้ตอนเสียชีวิต อัตราดอกเบี้ย 4% จากดอกเบี้ยปกติ 6.0-6.5% ต่อปี เป็นเวลา 20 ปี สมัครได้เฉพาะครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวน 3 แสนราย
แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีข้าราชการครูเข้าร่วมโครงการไม่ถึง 1% เพราะเห็นว่าการให้ธนาคารออมสินเป็นเจ้าภาพปล่อยสินเชื่อเพื่อใช้หนี้เก่า เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด มีการเสนอให้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยตรง นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังเคยหักเงินจากกองทุน ช.พ.ค. กว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อชำระแทนลูกหนี้ที่ค้างชำระติดต่อกันเกิน 3 งวดไปแล้ว ทั้งที่การดำเนินงานติดตามทวงเงินกรณีการผิดนัดชำระค่างวด ระหว่างธนาคารออมสินและ สกสค. ไม่ชัดเจน เห็นว่าเป็นสัญญาฝ่ายเดียว
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการปรับปรุงแนวทางสินเชื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเมื่อปลายปี 2560 ธนาคารออมสินยกเลิกเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน ที่เคยให้ สกสค. ในอัตรา 0.5-1% เปลี่ยนมาจัดสรรเป็นเงินเฉลี่ยคืน (Cash Back) เข้าบัญชีครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีวินัยทางการเงิน ชำระหนี้ดี 12 งวดติดต่อกัน รวมทั้งเชิญชวนให้ครูที่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนด เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร โดยคิดจากรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่าย พร้อมกันนี้ยังได้ยกเลิกข้อตกลงในการหักเงินจากกองทุน ช.พ.ค. โดยให้ สกสค. บริหารหนี้ครูแทน
ขอบคุณข้อมูลจาก mgronline.com