ข่าวทั่วไปข่าวสารท่องเที่ยว

ภูเขาไฟที่ฮาวาย ปะทุต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ พ่นลาวา แก๊สพิษไม่หยุด

เหตุภูเขาไฟที่ฮาวายปะทุ ยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงง่าย ๆ หลังดำเนินยาวนานมาต่อเนื่องถึง 3 สัปดาห์ ปล่อยทั้งลาวาร้อนและแก๊สพิษอันตรายออกมาไม่หยุด

ภาพจาก MARIO TAMA / AFP

24 พฤษภาคม 2561 เว็บสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น เผยรายงานสถานการณ์ภูเขาไฟคีลาเว ในหมู่เกาะฮาวาย ของสหรัฐอเมริกา เกิดปะทุขึ้นตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งล่าสุดผ่านมานานถึง 3 สัปดาห์แล้ว ก็ไม่มีท่าทีว่าจะสงบลงง่าย ๆ ทั้งยังปล่อยลาวาร้อนแดงฉาน และพ่นแก๊สพิษออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน กลายเป็นฝันร้ายของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่

ภาพจาก MARIO TAMA / AFP

เดวิด อิเก (David Ige) ผู้ว่าการรัฐฮาวาย เผยกับรายงาน ระบุว่า เหตุภูเขาไฟระเบิดก่อให้เกิดความน่าสะพรึงกลัว เกิดช่องเปิดหรือรอยแยกของเปลือกโลกทั่วบริเวณ กลืนกินบ้านเรือนและยานพาหนะของประชาชนไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ตามรายงานล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า ภูเขาไฟคีลาเวได้ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้ง พร้อมพ่นเถ้าถ่านลอยขึ้นสู่อากาศสูงเกือบ 3,000 เมตร นอกจากนี้ รอยแยกของเปลือกโลกที่เกิดขึ้นจำนวนมากนั้น ได้พ่นลาวาร้อนแดงฉานออกมาไหลเข้าสู่ผืนป่าและพื้นที่ชุมชน ส่งผลให้เกิดไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ซึ่งเป็นแก๊สพิษอันตราย

ภูเขาไฟระเบิดฮาวาย

ภาพจาก Ronit FAHL / AFP

ทั้งนี้ ตั้งแต่ภูเขาไฟคีลาเว เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบมากมายต่อประชาชนและทรัพย์สินในพื้นที่ ทางการต้องอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยออกไปอาศัยยังสถานพักพิงชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ทางการได้แจกจ่ายหน้ากากอนามัยต่อประชาชนบางส่วน เพื่อป้องกันการสูดดมแก๊สพิษ ควันไฟจากการเผาไหม้ และเถ้าถ่านที่ลอยปนเปื้อนมากับอากาศ

ภูเขาไฟระเบิดฮาวาย

ภาพจาก HO / US Geological Survey / AFP

โดยผู้พักอาศัยบางรายในพื้นที่ เผยว่า พวกเขาต้องทนต่อสู้กับผลกระทบจากแก๊สพิษที่เกิดขึ้น สเตฟานี ฮิงเกิล หนึ่งในชาวบ้านท้องถิ่นเผยว่า “เมื่อหายใจ ก็จะรู้สึกเจ็บ แสบคอเหมือนถูกไฟเผา ดวงตาแสบร้อน”

ภูเขาไฟระเบิดฮาวาย

ภาพจาก Ronit FAHL / AFP

นอกจากนี้ นอกจากลาวาร้อนจะไหลเข้าพื้นที่บ้านเรือนและถนนในชุมชนแล้ว มันยังไหลลงสู่ทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งก่อให้เกิดหมอกพิษอันตราย อันเกิดจากการรวมตัวของกรดไฮโดรคลอริกและสารอนุภาคของแก้วลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

 

ใส่ความเห็น