สาระเกษตร : ดูไว้ “กุยช่ายขาว ” ปลูกได้ ขายดี ใช้เวลา 3-4 เดือน เก็บผลผลิตได้
สาระเกษตร : ดูไว้ “กุยช่ายขาว ” ปลูกได้ ขายดี ใช้เวลา 3-4 เดือน เก็บผลผลิตได้
กุยช่าย เป็นพืชผักที่อยู่ในตระกูลเดียวกับหอม กระเทียม ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด ตลาดนิยมบริโภค “กุยช่ายขาว” กันมาก เพราะเป็นผักที่มีความกรอบความหวานเพิ่มขึ้น รสชาติดีขึ้นกว่าใบสีเขียวธรรมดา กุยช่ายขาว จึงขายได้ราคาดีกว่า กุยช่ายเขียว ประมาณ 3-4 เท่าตัว
กุยช่าย สามารถปลูกขยายพันธุ์ได้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมใช้กันคือ การแยกหน่อ กอกุยช่ายขนาดใหญ่ 1 กอ อาจขยายหน่อได้ปริมาณมากถึง 100 หน่อ แต่ละหน่อสามารถนำไปปักชำหรือปลูกให้เป็นกอใหม่ได้ในระยะเวลา 3-4 เดือน หากมีการปลูกต้นที่แยกหน่อโดยตรงในแปลง ควรมีการดูแลรักษาในระยะย้ายหน่อโดยการให้น้ำปริมาณที่มาก ซึ่งอาจทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการชำหน่อ
ส่วนการชำหน่อทำได้โดยตัดรากเดิมออกเกือบหมด แล้วนำไปชำให้เจริญเติบโต แตกรากออกมาใหม่พร้อมนำลงแปลงปลูก การชำอาจชำในถุงหรือในตะกร้าพลาสติกก็ได้ โดยวัสดุชำใช้ขี้เถ้าแกลบหรือดินผสมขี้เถ้าแกลบ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 ส่วน หลังปักชำแล้ว ประมาณ 1 เดือน สามารถนำปลูกลงแปลงได้
การเตรียมดินปลูก
กุยช่าย ปลูกครั้งเดียว สามารถเก็บเกี่ยวได้นานถึง 2-3 ปี หากมีการดูแลรักษาที่ดี ฉะนั้น แปลงปลูกควรจัดเตรียมอย่างดี และจัดระบบน้ำที่เหมาะสม เกษตรกรควรเลือกปลูกกุยช่ายในแหล่งดินดี เป็นดินร่วนปนทรายหรือปนดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยอินทรียวัตถุสูง สภาพความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระดับค่อนข้างเป็นกลาง ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน เพราะจะทำให้กุยช่ายรากเน่าตายเกิดความเสียหายได้
แปลงปลูกไม่ควรมีวัชพืชประเภทหญ้าแห้วหมูปริมาณมาก เพราะจะแย่งอาหาร นอกจากนี้ การกำจัดต้นหญ้าแห้วหมูหลังจากการปลูก จะทำได้ยากมาก เพราะต้นจะขึ้นเบียดแซมกัน หากจำเป็นต้องปลูกในแหล่งดินมีสภาพความเป็นกรดสูง ควรใส่ปูนขาว หรือโดโลไมต์ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดของดิน หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรใส่ปุ๋ยคอกประเภทปุ๋ยมูลไก่หรือปุ๋ยมูลเป็ด เพราะมีเมล็ดวัชพืชติดมาน้อยกว่าปุ๋ยจากมูลวัว อัตราการใส่ ประมาณ 100-200 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ปลูก 100 ตารางเมตร หรือประมาณ 1,600-3,200 กิโลกรัม ต่อไร่
โดยทั่วไป กุยช่ายปลูกดูแลง่าย เพราะเป็นผักที่มีโรคและแมลงน้อยกว่าพืชผักชนิดอื่น ๆ หลังปลูกแค่ดูแลให้น้ำใส่ปุ๋ย อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะปุ๋ยคอกใน อัตรา 2-3 ตัน ต่อไร่ ทุกปี ส่วนปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมควรเป็นปุ๋ยที่มีสัดส่วนธาตุอาหาร N P และ K ในอัตรา 2 : 1 : 1 เช่น ปุ๋ยสูตร 20-10-10 หรือ 30-15-15 อัตราการใช้ 50-100 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยแบ่งใส่ทุกรอบของการตัดใบไปจำหน่าย เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของใบใหม่ขึ้นทดแทนใบที่ถูกตัดไป และควรมีการใส่ปุ๋ยทางใบเสริม โดยเฉพาะธาตุอาหารรองต่าง ๆ เช่น แคลเซียม โบรอน และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของต้น อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ เกษตรกรควรกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้วัชพืชเแย่งอาหาร หรือหากมีวัชพืชพวกหญ้าแห้วหมูให้ขุดเหง้าหญ้าแห้วหมู ซึ่งอยู่ใต้ดินออกทำลายให้หมด หากสภาพดินในแปลงมีความแน่นแข็ง โดยสังเกตจากการรดน้ำ หากน้ำที่รดไหลบ่าลงข้างแปลงแสดงว่าผิวดินเริ่มแน่น ควรพรวนหน้าดินเพื่อให้น้ำสามารถซึมผ่านผิวดินลงไปสู่ระบบรากได้
หลังปลูก ต้นกุยช่ายจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว สามารถตัดใบออกจำหน่ายได้ภายในระยะ เวลา 3-4 เดือน การผลิตกุยช่ายเพื่อจำหน่ายดอกอ่อนและใบเขียวนั้นไม่ยุ่งยากในการปฏิบัติ เพราะตามธรรมชาติกุยช่ายจะให้ดอกและใบตามปกติอยู่แล้ว แต่การผลิตกุยช่ายขาว ต้องมีเทคนิคการดูแลจัดการให้ต้นกุยช่ายเปลี่ยนสีใบ จากสีเขียวเป็นสีขาวก่อน
เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมผลิตกุยช่ายขาว โดยใช้กระถางครอบเป็นกอ ๆ ซึ่งไม่เหมาะสมในการผลิตจำนวนมาก ๆ คุณวิภาวรรณ ดวนมีสุข และ สุธน สุวรรณบุตร นักวิชาการเกษตรแห่งสถานีพืชสวนท่าชัย อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โทร. 0-5567-9085-6 ได้พัฒนาเทคนิคการผลิตกุยช่ายขาวขึ้นใหม่ ซึ่งง่ายและสะดวก
เริ่มจากเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย
-ผ้าหนาสีดำเข้ม เช่น ผ้าลีวาย
-ไม้ระแนง ขนาด 1 นิ้ว
-และ ตะปู
วิธีการทำ
เริ่มจาก
1. ตัดไม้ยาว 1 เมตร จำนวน 4 ท่อน
2. ตัดไม้ยาว 0.5 เมตร จำนวน 8 ท่อน
3. นำมาประกอบเป็นโครงรูปสี่เหลี่ยม ขนาด 1×0.5×0.5 เมตร
4. ตัด และเย็บผ้าดำเป็นรูปตามลักษณะของโครงสี่เหลี่ยมที่ได้เตรียมไว้ แต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย เพื่อง่ายต่อการครอบบนโครงและเพื่อให้ผ้าดำมีความทึบแสงมากในสภาพกลางแจ้ง ผ้าที่เย็บสำหรับคลุมกรอบจะต้องเย็บทบกัน 2 ชั้น
วิธีการทำกุยช่ายขาว
1. เลือกกอกุยช่ายที่สภาพต้นมีความสมบูรณ์ สภาพแตกกอดี
2. ใช้มีดคมตัดกอกุยช่ายที่ระดับสูงเหนือผิวดินเล็กน้อย โดยตัดให้ขาดภายในครั้งเดียว เพื่อไม่ให้เกิดรอยช้ำ ซึ่งจะทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย ระหว่างการครอบ
3. ใช้กรอบไม้ที่บุด้วยผ้า 2 ชั้น ครอบกุยช่ายโดยกดส่วนกรอบไม้ด้านล่างให้จมลงดิน เพื่อไม่ให้แสงลอดเข้าไปได้ 4. คอยดูแลอย่าให้โครงไม้ที่ครอบเปิดออก
5. รดน้ำแปลงกุยช่ายตามปกติ
- ทิ้งระยะเวลาไปประมาณ 10-12 วัน ต้นกุยช่ายเจริญเติบโตอยู่ภายในโครงไม้ครอบโดยไม่ได้รับแสงเลย ส่วนระบบรากยังคงสามารถดูดน้ำและแร่ธาตุได้ตามปกติ ใบกุยช่ายที่เจริญเติบโตภายใต้สภาพไม่ได้รับแสงจะมีสีขาว เมื่อครอบจนครบกำหนดดังกล่าว ใบกุยช่ายจะมีความยาว ประมาณ 25-26 เซนติเมตร 7. เมื่อครบกำหนด เปิดโครงไม้ที่ครอบไว้ออก จะพบอยู่ในสภาพขาวทั้งกอ ให้ใช้มีดคมตัดกุยช่ายขาวในระดับผิวดินนำไปล้างทำความสะอาดเพื่อส่งจำหน่ายต่อไป
หลังจากตัดต้นกุยช่ายขาวแล้ว กุยช่ายจะเจริญเติบโตแตกใบขึ้นมาใหม่ทดแทนใบที่ถูกตัดออกไป จำเป็นที่จะต้องบำรุงต้นกุยช่ายให้มีความสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ เพราะต้นกุยช่ายที่อยู่ใต้ดินได้สูญเสียแร่ธาตุไปมาก ประกอบกับไม่ได้รับแสงแดดเป็นระยะเวลา 10-12 วัน ทำให้ต้นอ่อนแอลง การบำรุงต้นกุยช่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยใส่ปุ๋ยต่าง ๆ ให้น้ำที่เหมาะสม ต้นกุยช่ายจะเจริญเติบโตสมบูรณ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะใช้เวลา ประมาณ 1-2 เดือนจึงสามารถครอบทำกุยช่ายขาวได้อีกครั้ง หมุนเวียนไปเช่นนี้ จนกว่าต้นกุยช่ายจะแสดงอาการทรุดโทรม จึงรื้อถอนและปลูกแปลงใหม่ ซึ่งแต่ละรอบปลูกจะใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ขึ้นอยู่กับการบำรุงและดูแลรักษา
การปลูกกุยช่ายขาว อาจเจอปัญหาโรคเน่า จากสาเหตุที่กอกุยช่ายขาดความสมบูรณ์ จึงควรดูแลจัดการต้นกุยช่ายให้สมบูรณ์ ทั้งก่อนและหลังการครอบ ต้องควรใส่ใจคัดเลือกสายพันธุ์กุยช่ายที่เหมาะสม เพราะโดยทั่วไปกุยช่ายที่ใช้ตัดดอกอ่อน จะไม่เหมาะในการทำกุยช่ายขาว เพราะมีใบขนาดเล็ก เมื่อทำกุยช่ายขาวไปหลาย ๆ ใบจะมีขนาดเล็กลงมาก ไม่สามารถจำหน่ายได้ ควรใช้พันธุ์ซึ่งเป็นพันธุ์กุยช่ายใบจะเหมาะสมกว่า เพราะมีใบขนาดใหญ่
นอกจากนี้ หากมีแสงแดดลอดผ่านบริเวณผิวดินที่ครอบคลุมผ้าดำไม่สนิท หรือบริเวณที่มีรอยแตก จะทำให้ใบกุยช่ายขาวได้ไม่เพียงพอ ควรแก้ไขโดยกดกรอบไม้ให้จมดินแล้วนำแผ่นอิฐบล็อกวางทับผ้าคลุมกรอบไม้ให้เป็นระเบียบแนบสนิทกับพื้นดิน
ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์