สู้แล้วรวย ! หั่นสับปะรดภูแลใส่ถุงขาย ลองผิดลองถูกจนได้วิธีลดต้นทุน ขายได้กำไรกว่าเท่าตัว
สู้แล้วรวย ! หั่นสับปะรดภูแลใส่ถุงขาย ลองผิดลองถูกจนได้วิธีลดต้นทุน ขายได้กำไรกว่าเท่าตัว
สับปะรด จัดเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่ง หากท่านลองหาข้อมูลประโยชน์ของสับปะรดแล้วจะพบว่ามีอยู่หลากหลายประการ แต่ดูเหมือนกว่าจะได้รับประทานสับปะรดสักชิ้นคงเป็นเรื่องไม่ง่าย ดังนั้น ผู้บริโภคจึงนิยมรับประทานสับปะรดที่พ่อค้าหั่นเสร็จสรรพ เพื่อทำให้เกิดความสะดวกต่อการรับประทาน
“ภูแล” เป็นชื่อพันธุ์สับปะรดที่โด่งดังของทางจังหวัดเชียงราย ถึงวันนี้หลายคนคงรู้จักชื่อเสียงของสับปะรดภูแลเป็นอย่างดี และด้วยความที่มีผลขนาดเล็ก เนื้อสีเหลืองทอง กลิ่นหอม แกนสับปะรดกรอบรับประทานได้ มีรสชาติหวานปานกลาง จึงเป็นที่นิยมรับประทานกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะผลที่มีขนาดเล็กมาก เวลาปอกเปลือกมักนิยมเหลือก้านผลไว้ถือรับประทานได้อย่างสะดวก
ตลาดพระราม 5 ตั้งอยู่ริมถนนนครอินทร์ นับเป็นตลาดสดขนาดใหญ่ที่มีสินค้าจำหน่ายทุกชนิด ทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ของใช้ และบริการอื่น ซึ่งที่นั่นมีร้านหั่นสับปะรดภูแลขายอยู่ด้วย
คุณจุ่น เป็นพ่อค้าร้านสับปะรดภูแลที่ขายมาพร้อมกับการตั้งต้นของตลาดแห่งนี้ เขาเป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบัน ทำงานประจำอยู่ที่สวนสัตว์ดุสิต (เขาดิน) หลังจากเลิกงานในทุกวัน หรือวันหยุดจะมาช่วยครอบครัวขายสับปะรดที่ตลาดพระราม 5
เหตุผลที่คุณจุ่นต้องมาขายสับปะรด เพราะต้องการหารายได้เสริมให้แก่ครอบครัว ดังนั้น ในครั้งแรกเขาจึงเดินทางไปที่ตลาดสี่มุมเมือง เพื่อหาซื้อสับปะรดมาขาย แต่ความไม่แน่นอนมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง คุณจุ่นไม่สามารถคาดเดาว่าในครั้งไหนเขาจะมีสับปะรดมาขาย
จากนั้นเขาจึงเบนเข็มมาที่ตลาดมหานาค (ตลาดสะพานขาว) เพื่อมองหาสับปะรดไปขาย แล้วถือว่าโชคเข้าข้าง เมื่อพบเห็นป้ายเขียนว่า “สับปะรดภูแล” พร้อมกับมีตัวอย่างโชว์ให้เห็นของจริง เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้คุณจุ่นเข้าไปตกลงเจรจากับผู้ค้าสับปะรดทันที
สับปะรดภูแลมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ทั้งนี้ความนิยมบริโภคขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า สำหรับในครั้งแรกคุณจุ่นเลือกขนาดเล็กมาขายก่อน จำนวน 50 ผล ราคา ผลละ 6 บาท และประสบความสำเร็จขายหมดเกลี้ยงภายในวันเดียว แต่พอขายได้ไม่นานพบว่าไม่คุ้มทุน ดังนั้น ในเวลาต่อมาจึงตัดสินใจเปลี่ยนเป็นขนาดกลาง ขนาด 3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม มาขายแทน เพราะคุ้มกว่ามาก
จนกระทั่งขณะนี้คุณจุ่นสั่งสับปะรดภูแลของผู้ค้ารายเดิมเข้ามาเป็นประจำทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 วัน ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ครั้งละ 600 ผล ไปรับเองที่ตลาดมหานาค โดยผู้ค้าจะใส่สับปะรดไว้ในถุงพลาสติกรอไว้จำนวนถุงละ 20 ผล ในบางคราวถ้าพบว่าผลยังเขียวต้องพักรอ ยังขายไม่ได้ แล้วต้องใช้ผ้าคลุมทิ้งไว้จนกว่าจะมีสีเหลือง
“ตอนแรกนำผลขนาดเล็กมาขาย พอปอก/หั่น ใส่ถุง ต้องใช้ 4-5 ผล ซึ่งมาคำนวณแล้วไม่คุ้ม เพราะต้องใช้ต้นทุนมาก จึงได้เปลี่ยนมาขายผลขนาดกลาง เพราะใช้เพียง 2 ผล ต่อถุง หรือหั่นแล้วได้ราว 14-16 ชิ้น ต่อถุง คุ้มค่ากว่า เพราะ 2 ผล ใช้เงิน 16 บาท นำมาขาย ถุงละ 30 บาท ได้กำไรแล้วประมาณ 14 บาท”
ลักษณะการขายสับปะรดภูแลของคุณจุ่นมี 2 แบบ คือจะปอกและหั่นใส่ถุง ขายราคาถุงละ 30 บาท ใน 1 ถุง มีจำนวน 14-16 ชิ้น หรือราว 2 ผล เพราะผลหนึ่งหั่นได้จำนวน 7-8 ชิ้น แล้วแต่ขนาด สำหรับราคานี้เขาบอกว่าขายมาตั้งแต่เปิดตลาดครั้งแรก ซึ่งไม่ว่าราคาสับปะรดจะแพงหรือถูก ก็จะคงขายราคาเดิมตลอด
การขายอีกแบบคือ ขายเป็นผลไม่ปอกเปลือก ราคาผลละ 20 บาท ซึ่งในลักษณะเช่นนี้ลูกค้าบางรายที่ขยันปอกมักซื้อกันจำนวนมาก และมักต่อรองราคา แต่เจ้าของร้านมักไม่ลดราคาให้ เพราะกลัวเสียระบบ ดังนั้น เขาจึงใช้วิธีการแถมผลดีกว่า อย่างถ้าซื้อ จำนวน 5 ผล มักแถมให้ 1 ผล ดังนั้น ลูกค้าจะได้ 6 ผล 100 บาท แต่ถ้าเป็นช่วงที่ราคาถูก อาจขาย 7 ผล 100 บาท
ในรอบปีปริมาณผลผลิตสับปะรดภูแลไม่คงที่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาล คุณจุ่นให้รายละเอียดว่าในช่วงหน้าแล้งมีปริมาณสับปะรดน้อยกว่าปกติมาก แล้วบางครั้งอาจไม่มีเลย จึงทำให้ในช่วงดังกล่าวราคาซื้อสับปะรดจะสูง อย่างช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ราคาซื้อผลละ 9 บาท แต่เมื่อถึงช่วงหน้าฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปปริมาณจะค่อยเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาลดลงเหลือ ผลละ 6-7 บาท
เจ้าของร้านสับปะรดเผยว่า เมื่อดูจากภาพรวมการขายตลอดหลายปีที่ผ่านมา พบว่า แบบหั่นใส่ถุงจะขายดีกว่าเป็นผล เพราะลูกค้าบอกว่าสะดวกดี รับประทานได้ทันที เพราะไม่ถนัดปอกเอง
ร้านที่เช่าขายสับปะรดอยู่ทุกวัน มีจำนวน 3 ล็อก ค่าเช่าล็อกละ 100 บาท ต่อวัน จึงมีค่าเช่าที่ต้องจ่ายวันละ 300 บาท ดังนั้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและลดความเสี่ยงจากการที่ต้องจ่ายค่าเช่าฟรี ดังนั้น เมื่อขายไปสัก 2 วัน คุณจุ่นจะต้องเตรียมสั่งครั้งต่อไปทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ของขาดช่วง มิเช่นนั้นจะเสียค่าเช่าแผงโดยเปล่าประโยชน์
คุณจุ่นชี้ว่า รสชาติ เนื้อผล และขนาดของสับปะรดภูแล มีความพอดีกับความต้องการของผู้บริโภค จึงได้รับความนิยม เขาบอกว่าเมื่อเทียบกับสับปะรดชนิดอื่น อย่าง ศรีราชา ที่มีเนื้อฉ่ำมาก แต่ภูแลไม่ฉ่ำ เนื้อแห้ง กรอบ หวานกำลังดีไม่มากเกินไปจนแสบลิ้น
“เคยมีลูกค้ามาบ่นว่า รุ่นนี้ไม่ค่อยหวาน เลยต้องอธิบายให้เข้าใจว่า บางรุ่นหวาน บางรุ่นอาจไม่หวานเพราะรับมาขายต่ออีกต่อหนึ่ง ไม่ได้ปลูกเอง แต่เท่าที่ผ่านมาพบน้อยมาก เพราะสับปะรดเจ้าที่รับมาขายนี้รสชาติคงที่ และมีคุณภาพดี
หรือบางรายสงสัยว่า เป็นภูแลแท้หรือไม่ เลยบอกไปว่าเท็จจริงอย่างไรไม่ทราบ เพราะไปรับมาจากคนส่งที่เขียนปิดป้ายว่า สับปะรดภูแล แต่เท่าที่ลองสังเกตเปรียบเทียบกับสับปะรดพันธุ์อื่น อย่าง ศรีราชา ภูเก็ต ห้วยมุ่น ตราดสีทองแล้ว ไม่มีความเหมือนกันเลย ไม่ว่าจะเป็นที่รูปร่าง ตา เนื้อ หรือแม้แต่ขนาด”
ด้านวิธีปอก/หั่น คุณจุ่นเผยว่า แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคน สับปะรดภูแลที่มีขนาดผลเล็กมากจะปอกและฝานตาออกลำบาก เนื่องจากต้องอาศัยความชำนาญ จึงนำขนาดกลางมาขาย เพราะปอก/หั่น สะดวกกว่า และการปอกเปลือกอาจต้องลึกเข้าไปที่เนื้อมาก เพราะจะได้ฝานตาไม่ยากนัก
“วิธีการเช่นนี้ทำให้สะดวก และรวดเร็วทันเวลา หากพบบางผลมีเนื้อช้ำมาก จะต้องปาดทิ้ง เพราะไม่ต้องการเสียชื่อ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีจำนวนผลเสียไม่สมบูรณ์คราวละ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ทุกครั้ง แล้วไม่ได้เสียหายทั้งผล แต่ถือว่าเสียหายเหมือนกัน
สำหรับชิ้นส่วนเศษสับปะรดทั้งหมดที่ใช้ไม่ได้แล้ว จะไม่ได้ทิ้ง เพราะมีพ่อค้าผักในตลาดเดียวกันขอไปบดเพื่อให้วัวกิน ส่วนคนขายผักมักจะนำผักที่ร้านมาแลกให้เป็นการตอบแทนน้ำใจ”
ร้านสับปะรดคุณจุ่นขายสับปะรดภูแลทั้ง 2 แบบ เฉลี่ยวันละ 200 ผล เขาบอกว่าในช่วงตรุษจีนและสารทจีนขายดีมาก ขายวันละ 1,000 กว่าผล จะสั่งเป็นผลเขียวมาก่อนล่วงหน้าสัก 2 วัน ก่อนใช้ในพิธี เพราะลูกค้าชอบผลห่าม ทรงสวย ยอดตั้ง มักซื้อไปใช้เป็นเครื่องไหว้ ราคาขาย 20 บาท เช่นกัน ส่วนเทศกาลอื่นขายได้ตามปกติ
คุณจุ่น บอกว่า ทุกวันนี้ต้นทุนค่าซื้อสับปะรดเฉลี่ยเดือนละห้าหมื่นกว่าบาท และเมื่อหักต้นทุนทุกอย่างแล้ว เหลือเงินวันละ 500-600 บาท ถือว่าเป็นอาชีพที่อยู่ได้ เพราะถือหลักขอกำไรน้อย แต่ได้ลูกค้าจำนวนมากดีกว่า
สนใจแวะไปชิมสับปะรดภูแลที่ร้านของคุณจุ่นได้ที่ ตลาดพระราม 5 เปิดขายทุกวัน เวลาขาย 14.00-20.00 น. ร้านอยู่บริเวณกลางตลาด ถ้าเดินเข้ามาด้านหน้า จะอยู่แถวกลาง เดินเข้ามาสัก 200 เมตร หรือสอบถามเส้นทางได้ที่ โทรศัพท์ (086) 613-2722