รถตู้ไม่เหมาะกับการเป็นรถโดยสาร จริงหรือไม่ ?! เพราะทุกชีวิตมีค่าอย่างประเมินไม่ได้ครับ
รถตู้ไม่เหมาะกับการเป็นรถโดยสาร จริงหรือไม่ ?! เพราะทุกชีวิตมีค่าอย่างประเมินไม่ได้ครับ
หลังจากที่มีข่าวรถตู้พุ่งข้ามเลนไปชนกับรถกระบะจนเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น.. มีกระแสในโลกโซเชียลไม่น้อยที่ระบุว่า ‘รถตู้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อโดยสาร’ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริงหรือ?
รถตู้สาธารณะถือเป็นบริการที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ด้วยระยะเวลาเดินทางที่รวดเร็วไม่แพ้รถส่วนตัว ไม่ต้องรอนานเหมือนรถบัส แถมค่าบริการถือว่ารับได้ ไม่แพง ถ้าเทียบกับการใช้บริการแท็กซี่ หรือแม้กระทั่งเติมน้ำมันรถส่วนตัว แต่หลายความคิดเห็นที่ระบุว่า ‘รถตู้ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการโดยสาร’ ถ้าเช่นนั้นรถตู้ถูกพัฒนามาเพื่อสิ่งใด? ใช้ขนส่งสินค้าแบบที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุโรปเท่านั้นหรือ? แล้วถ้าผู้เขียนจะบอกว่ารถตู้ก็ไม่มีความปลอดภัยพอที่จะนำมาขนส่งสินค้าล่ะ จะเชื่อไหม?
มีค่ายรถยนต์หลายค่ายที่พัฒนารถตู้มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่นและยุโรป ที่เห็นในบ้านเราก็มีทั้ง Toyota Hiace, Toyota Commuter, Toyota Ventury หรือ Nissan Urvan ก็ถือเป็นอีกรุ่นที่ทำตลาดชิงส่วนแบ่งมาอย่างยาวนาน หรือแม้กระทั่งค่ายหรูอย่างเมอเซเดส-เบนซ์ ที่มีรถตู้เพื่อการโดยสารโดยเฉพาะ เช่น Vito Tourer และ Sprinter Tourer ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุดถึง 17 ที่นั่ง (รวมคนขับ) เลยทีเดียว
ซึ่งรถทุกคันจะถูกติดตั้งเข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์มาตรฐานทุกที่นั่ง อาจเป็นเข็มขัดแบบ 2 จุด หรือ 3 จุด ก็สุดแล้วแต่ต้นทุนทางการตลาดของแต่ละรุ่น นี่ยังไม่รวมการออกแบบโครงสร้างซับแรงกระแทกตามฉบับรถยุคใหม่ ที่อาจปลอดภัยกว่ารถเก๋งบางรุ่นด้วยซ้ำไป ดังนั้น หากจะพูดว่ารถตู้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการโดยสารนั้น ก็ดูจะผิดเพี้ยนจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการพัฒนารถตู้ไปสักหน่อย
ส่วนรถตู้ที่พัฒนามาเพื่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะก็มีให้เห็นจำนวนมาก ซึ่งยุโรปเป็นทวีปที่ใช้รถตู้เพื่อการขนส่งสินค้าอย่างแพร่หลาย ขณะที่บ้านเรามักใช้รถกระบะเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรถตู้สำหรับขนส่งสินค้ามักจะเป็นรถตู้แบบทึบ ไม่มีกระจกหน้าต่างด้านหลัง ภายในก็จะถูกออกแบบให้โล่ง เพื่อการรองรับปริมาณสินค้าให้ได้มากที่สุด
แต่รถตู้ขนส่งสินค้าเหล่านี้ ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป เพราะหากบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่มีน้ำหนักมาก เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แรงเฉื่อยของวัตถุท้ายรถ จะพุ่งไปกระแทกเข้ากับคนขับและผู้โดยสารด้านหน้าอย่างรุนแรง จนอาจได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้น หากจะพูดว่ารถตู้ถูกออกแบบมาเพื่อขนส่งสินค้า ‘เท่านั้น’ ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากเช่นกัน
อย่าเพิ่งรีบไปโทษจุดประสงค์การพัฒนารถตู้ว่าทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตเมื่อเกิดการชนเลยครับ สาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุนั้น ล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับผู้ขับขี่และสภาพการใช้งานของรถต่างหาก ไม่ต่างอะไรกับรถเก๋งหรือรถประเภทอื่นเลย
รถตู้โดยสาร (รถตู้วิน) ส่วนใหญ่ในบ้านเรา มีการดัดแปลงเพื่อติดตั้งถังก๊าซเพื่อลดต้นทุนการเดินทางให้มากที่สุด ในเมื่อรถไม่ได้ถูกพัฒนาเพื่อรองรับถังก๊าซขนาดใหญ่มาตั้งแต่แรก ก็ต้องมีการยกที่นั่งแถวหลังให้สูงขึ้น กลายเป็นว่าผู้โดยสารแถวหลังสุดต้องฝากชีวิตไว้บนถังก๊าซแรงดันสูงตลอดการเดินทาง บนเก้าอี้ที่ถูกยึดไว้ด้วยน็อตตัวเล็กๆ ที่ผ่านการติดตั้งจากอู่ติดก๊าซ ที่อาจไม่มีสิ่งใดการันตีฝีมือความสามารถของช่างคนนั้นเลยก็เป็นได้
นี่ยังไม่รวมสภาพรถที่ใช้งานมาอย่างหนัก ผ่านการบำรุงรักษามากน้อยขนาดไหนไม่มีใครรู้ นอกจากคนขับและเจ้าของรถ ไม่่ว่าจะเป็นระบบเครื่องยนต์, ระบบเบรก, ล้อและยาง ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่ทั้งสิ้น รวมถึงผู้ขับขี่ที่มีสภาพไม่พร้อมในการขับรถระยะไกล พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือต้องเพิ่มรอบวิ่งเพื่อให้ได้ปริมาณคนมากที่สุด เหล่านี้ต่างหากที่ล้วนแต่เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตู้โดยสารสาธารณะในปัจจุบัน
ถึงเวลาแล้วที่รัฐต้องมีมาตรการควบคุมรถสาธารณะอย่างจริงจังเสียที ไม่เพียงเฉพาะรถตู้โดยสารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรถทุกประเภท ตั้งแต่ตุ๊กตุ๊ก ไปจนถึงรถบัสสองชั้น ที่มีอุบัติเหตุให้เห็นได้บ่อยไม่แพ้กัน
เพราะทุกชีวิตมีค่าอย่างประเมินไม่ได้ครับ